ประวัติ วัดศรีชุมพล
ประวัติวัดศรีชุมพลตามหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๑๑ ระบุว่า วัดศรีชุมพลตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ ใช้ชื่อวัดชุมพล โดยพระอธิการเบ้าเป็นผู้นำ ย้ายวัดมาจากบึงผาแตก มาสร้างวัดบนที่ดินว่างเปล่าประกอบกับข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ ราษฎรบ้านโพนก้างปลา กล่าวว่า วัดศรีชุมพลสร้างขึ้นพร้อมบ้านโพนก้างปลา มีสถานะเป็นวัดประจำหมู่บ้าน โดยแต่เดิมชื่อ วัดศรีชมพล และต่อมาเปลี่ยนเป็น วัดศรีชุมพล
ใบเสมาหินทราย บ้านโพนก้างปลา หมู่ ๒
พบใบเสมาอายุสองพันปี กลางทุ่งนาในหมู่บ้านโพนก้างปลา หลังพระลูกวัดศรีชุมพล อำเภอเมืองสกลนคร ฝันมีคนบอกให้ไปขุดใบเสมามาเก็บไว้ที่วัด จึงชวนผู้ใหญ่บ้านไปขุด เจ้าของที่นาระบุทำนามากว่า ๓๐ ปี พบเพียงหินโผล่ดินขึ้นมาเล็กน้อย ไม่คิดจะเป็นใบเสมา และยินดียกให้วัด คาดมีอายุรุ่นเดียวกับพระธาตุพนมกว่า ๒ พันกว่าปี
นายอำเภอเมืองสกลนคร ได้นำผู้สื่อข่าวเดินทางไปสำรวจเสมาหินทรายที่พระร่วมชาวบ้านขุดพบบริเวณทุ่งนา ของนางบัว พรหมโคตร ใกล้ป่าช้าสาธารณประโยชน์ของบ้านโพนก้างปลา ตั้งอยู่ใกล้กับลำห้วยเรือตอนกลาง แล้วนำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดศรีชุมพล บ้านโพนก้างปลา ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร โดยมีพระครูสุจิตธรรมสถิต เจ้าอาวาสวัดศรีชุมพล เจ้าคณะตำบลดงมะไฟ เขต ๒ ผู้ใหญ่บ้านโพนก้างปลา นายสุถี แสนสุวรรณศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโพนก้างปลา และชาวบ้านกว่า ๑๐ คน ร่วมตรวจสอบด้วย
เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๐ สำนักศิลปกรที่ ๘ ขอนแก่น ได้รับแจ้งจาก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร หนังสือที่ สน ๐๐๓๑/๕๑๕ ลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๑ เรื่องรายงานการพบโบราณวัตถุในพื้นที่ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร จากการตรวจพบ เป็นใบเสมาชนิดหินทราย ซึ่งเก็บไว้ที่วัดมีดังนี้
ใบเสมาใบที่ ๑ ทำจากหินทราย ลักษณะเป็นทรงแผ่นหินแบน ส่วนปลายยอดแหลมคล้ายกลีบบัว กึ่งกลางใบสลักลวดลายเพียงด้านเดียว โดยสลักลายหม้อน้ำทรงกลมถัดจากหม้อน้ำสลักเป็นลายพันธุ์พฤกษาเป็นพุ่มแหลม ฐานรองรับด้วยลายบัวหงาย ไม่มีส่วนเดือย วัดขนาดความกว้าง ๗๓ เซนติเมตร สูง ๑๑๔ เซนติเมตร หนา ๑๙ เซนติเมตร (เก็บรักษาไว้ภายในศาลา)
ใบเสมาที่ ๒ ทำจากหินทราย ลักษณะเป็นทรงแผ่นหินแบน ส่วนปลายยอดแหลมคล้ายกลีบบัว กึ่งกลางใบสลักลวดลายเพียงด้านเดียว เป็นสันนูนคล้ายแกนสถูปโคนด้านล่างเป็นรูปเม็ดประคำ ไม่มีส่วนเดือย วัดขนาดความกว้าง ๘๑ เซนติเมตร สูง ๑๐๙ เซนติเมตร หนา ๒๐ เซนติเมตร (เก็บรักษาไว้ภายในศาลา)
ใบเสมาที่ ๓ ทำจากหินทราย ลักษณะเป็นทรงแผ่นหินแบน ส่วนปลายยอดแหลมคล้ายกลีบบัว กึ่งกลางใบสลักลวดลายเพียงด้านเดียว สลักลายหม้อน้ำทรงกลมถัดจากหม้อน้ำสลักเป็นลายพันธุ์พฤกษาเป็นพุ่มแหลม ฐานรองรับด้วยลายบัวหงาย วัดขนาดความกว้าง ๘๑ เซนติเมตร สูง ๑๐๒ เซนติเมตร หนา ๑๙ เซนติเมตร (เก็บรักษาไว้ภายในศาลา)
ใบเสมาที่ ๔ ทำจากหินทราย ลักษณะเป็นทรงแผ่นหินแบน ส่วนปลายยอดโค้งมน ผิวเรียบ ไม่ตกแต่งลวดลายใดๆ วัดขนาดความกว้าง ๘๒ เซนติเมตร สูง ๘๖ เซนติเมตร หนา ๒๑ เซนติเมตร ปักอยู่ด้านหน้าด้านทิศเหนือของศาลา
ใบเสมาใบที่ ๕ ทำจากหินทราย ลักษณะเป็นทรงแผ่นหินแบน ส่วนปลายโค้งมน ผิวเรียบไม่มีการตกแต่งลวดลาย วัดขนาดความกว้าง ๔๔ เซนติเมตร สูงจากผิวดิน ๕๖ เซนติเมตร หนา ๑๑.๕เซนติเมตร ปักอยู่ด้านหน้าด้านทิศเหนือ
ใบเสมาใบที่ ๖ ทำจากหินทราย ลักษณะเป็นทรงแผ่นหินแบน ส่วนปลายหักหาย ผิวเรียบไม่มีการตกแต่งลวดลาย วัดขนาดความกว้าง ๘๐ เซนติเมตร สูงจากผิวดินประมาณ ๘๒ เซนติเมตร หนา ๑๔.๕ เซนติเมตร ปักอยู่ด้านทิศเหนือของศาลา
ใบเสมาใบที่ ๗ ทำจากหินทราย ลักษณะเป็นทรงแผ่นหินแบน ส่วนปลายหักหาย ผิวเรียบไม่มีการตกแต่งลวดลาย วัดขนาดความกว้าง ๘๒ เซนติเมตร สูงจากผิวดินประมาณ ๘๑ เซนติเมตร หนา ๒๒ เซนติเมตร ปักอยู่ด้านหน้าทิศใต้ของศาลา
ใบเสมาใบที่ ๘ ทำจากหินทราย ลักษณะเป็นทรงแผ่นหินแบน ส่วนปลายโค้งแหลม มุมด้านหนึ่งบริเวณส่วนปลายแตกหัก ผิวเรียบไม่มีการตกแต่งลวดลาย วัดขนาดความกว้าง ๒๑.๕ เซนติเมตร สูงจากผิวดินประมาณ ๖๑.๕ เซนติเมตร หนา ๑๔.๕ เซนติเมตร ปักอยู่ด้านหน้าทิศใต้ของศาลา
ใบเสมาใบที่ ๙ ทำจากหินทราย ลักษณะเป็นทรงแผ่นหินแบน ส่วนปลายยอดหักหาย ผิวเรียบไม่มีการตกแต่งลวดลาย วัดขนาดความกว้าง ๗๖ เซนติเมตร สูงจากผิวดินประมาณ ๙๑ เซนติเมตร หนา ๒๖ เซนติเมตร ปักอยู่ด้านหน้าทิศใต้ของศาลา
ใบเสมาใบที่ ๑๐ ทำจากหินทราย ลักษณะเป็นทรงแผ่นหินแบน ส่วนปลายยอดหักหาย ผิวเรียบไม่มีการตกแต่งลวดลาย วัดขนาดความกว้าง ๗๕ เซนติเมตร สูงจากผิวดินประมาณ ๔๘ เซนติเมตร หนา ๑๕.๓ เซนติเมตร ปักอยู่ด้านหน้าทิศใต้ของศาลา